กฎ กติกา กอล์ฟ บทที่ 1-6 | กฎ กติกา กอล์ฟ บทที่ 7-12 | กฎ กติกา กอล์ฟ บทที่ 13-19 | กฎ กติกา กอล์ฟ บทที่ 20-25
กฎข้อบังคับในการเล่นกอล์ฟ โดยสมาคมกอล์ฟแห่งสหรัฐอเมริกา และเดอะ รอยัล แอนด์ แอนเชียน กอล์ฟ คลับ ออฟ เซ็นต์ แอนดรูวส์
แปล และเรียบเรียงโดย สิทธิพร โรจนศิริ กรรมการกฎข้อบังคับ และมรรยาท สมาคมกอล์ฟแห่งประเทศไทย Member of R&ARefereesSchool 1993 and 1999 (St. Andrews, Scotlandand Member of USGA Slope Rating).
กฎข้อ 20 การหยิบลูก การดรอปลูก การวางลูก และการเล่นลูกในที่ผิด
20-1. การหยิบลูก และการมาร์คลูก
การหยิบลูกภายใต้กฎข้อบังคับ อาจจะหยิบได้โดยผู้เล่น พาร์ทเน่อร์ หรืออีกบุคคลอื่นซึ่งผู้เล่นอนุญาตให้หยิบ ในกรณีเช่นนี้ ผู้เล่นจะต้องรับผิดชอบต่อการละเมิดกฎข้อบังคับใดๆ
จะต้องทำการมาร์คตำแหน่งลูก ก่อนหยิบลูกภายใต้กฎข้อบังคับที่กำหนดให้นำลูกกลับมาวางไว้ที่เดิม ถ้าไม่มาร์คลูก ผู้เล่นจะต้องถูกปรับโทษหนึ่งแต้ม และจะต้องวางลูกไว้ที่เดิม ถ้าไม่วางลูกไว้ที่เดิม ผู้เล่นจะต้องถูกปรับโทษทั่วไปสำหรับการละเมิดกฎข้อนี้ แต่จะต้องไม่นำกฎข้อ 20-1 มาใช้ในเพื่อเพิ่มโทษเข้าไปอีก
ถ้าลูก หรือที่มาร์คลูก เคลื่อนที่โดยบังเอิญจากการหยิบลูก หรือจากการมาร์คตำแหน่งลูกภายใต้กฎข้อบังคับ จะต้องนำลูก หรือนำที่มาร์คลูกกลับมาวางไว้ที่เดิมโดยไม่มีการปรับโทษ แต่มีเงื่อนไขว่าการเคลื่อนที่ของลูก หรือการเคลื่อนที่ของที่มาร์คลูกเกิดจากการกระทำเฉพาะในการมาร์คตำแหน่งลูก หรือในการหยิบลูกโดยตรงเท่านั้น มิฉะนั้น ผู้เล่นจะต้องถูกปรับโทษหนึ่งแต้มภายใต้กฎข้อนี้ หรือถูกปรับโทษภายใต้กฎข้อ 18-2ก
ข้อยกเว้น ถ้าผู้เล่นถูกปรับโทษที่ไม่กระทำตามกฎข้อ 5-3 หรือ ข้อ 12-2 จะต้องไม่นำกฎข้อ 20-1 มาใช้เพื่อเพิ่มโทษเข้าไปอีก
หมายเหตุ ควรจะมาร์คตำแหน่งลูกที่จะหยิบขึ้นด้วยที่มาร์คลูก ด้วยเหรียญเล็กๆ หรือด้วยสิ่งอื่นที่คล้ายกันให้ติดกับด้านหลังลูก ถ้าที่มาร์คลูกกีดขวางการเล่น การยืน หรือการตี ของผู้เล่นอีกคนหนึ่ง ควรจะมาร์คให้พ้นในระยะหนึ่งช่วงหัวไม้กอล์ฟ หรือในระยะมากกว่าหนึ่งช่วงหัวไม้กอล์ฟไปทางด้านหนึ่งด้านใด
20-2. การดรอปลูก และการดรอปลูกใหม่
ก. โดยใคร และอย่างไร
ลูกที่ดรอปภายใต้กฎข้อบังคับ จะต้องดรอปโดยผู้เล่นเอง ผู้เล่นจะต้องยืนตรง ถือลูกไว้ เหยียดแขนออกไประดับไหล่และดรอปลูก ถ้าบุคคลอื่นเป็นผู้ดรอปลูกให้ หรือดรอปลูกในลักษณะอื่น และไม่ได้มีการแก้ไขความผิดพลาดตามที่กำหนดไว้ในกฎข้อ 20-6 ผู้เล่นจะต้องถูกปรับโทษหนึ่งแต้ม
ในการดรอป ถ้าลูกสัมผัสผู้เล่น พาร์ทเน่อร์ หรือแคดดี้ หรืออุปกรณ์ของคนหนึ่งคนใดก่อน หรือหลังจากลูกกระทบพื้นสนาม จะต้องทำการดรอปลูกใหม่โดยไม่เสียแต้ม และไม่จำกัดจำนวนครั้งที่จะต้องดรอปลูกใหม่ในสภาพการณ์เช่นนี้
(การกระทำอันมีผลต่อตำแหน่ง หรือการเคลื่อนที่ของลูก – ดูกฎข้อ 1-2)
ข. ดรอปที่ใด
เมื่อจะต้องดรอปลูกให้ใกล้จุดที่เฉพาะเจาะจงเท่าที่ทำได้ จะต้องดรอปลูกไม่ใกล้หลุมเข้าไปกว่าจุดที่กำหนดนั้นๆ ถ้าผู้เล่นไม่ทราบตำแหน่งที่แน่ชัด จะต้องใช้การคาดคะเน
เมื่อดรอปลูก ลูกต้องกระทบพื้นสนามก่อนตรงจุดที่กฎข้อบังคับกำหนดให้ดรอป ถ้าไม่ดรอปลูกเช่นนี้ ให้นำกฎข้อ 20-6 และข้อ 20 –7 มาบังคับใช้
ค. ดรอปใหม่เมื่อใด
ลูกที่ดรอปไปแล้ว จะต้องให้ดรอปใหม่ โดยไม่มีการปรับโทษ ถ้าลูก
(1) กลิ้ง และเข้ามาหยุดอยู่ในอุปสรรค
(2) กลิ้งออกไป และไปหยุดอยู่นอกอุปสรรค
(3) กลิ้ง และขึ้นไปหยุดอยู่บนกรีน
(4) กลิ้ง และออกไปหยุดอยู่นอกสนาม
(5) กลิ้ง และเข้ามาหยุดอยู่ในตำแหน่งที่มีการติดขัดจากสภาพที่ได้รับการผ่อนปรนภายใต้กฎข้อ 24-2 (สิ่งกีดขวางที่ไม่สามารถเคลื่อนย้ายได้) กฎข้อ 25-1 (สภาพพื้นผิดปกติ) กฎข้อ 25-3 (ผิดกรีน) หรือตามกฎสนาม (กฎข้อ 33-8ก) หรือกลิ้งกลับเข้าไปในรอยลูกตกที่หยิบลูกขึ้นได้ภายใต้กฎข้อ 25-2 (ลูกจม)
(6) กลิ้งจากจุดที่ลูกกระทบพื้นสนามครั้งแรก ออกไปหยุดไกลกว่าสองช่วงไม้กอล์ฟ(ดูกฎข้อ 20-2ข) หรือ
(7) กลิ้งและเข้าไปหยุดใกล้หลุมกว่า ดังนี้
ก. ตำแหน่งที่ลูกเดิมอยู่ หรือตำแหน่งที่ประมาณไว้ (ดูกฎข้อ 20-2ข) นอกจากกฎข้อบังคับอนุญาตเป็นอย่างอื่น หรือ
ข. จุดผ่อนปรนที่ใกล้ที่สุด หรือการผ่อนปรนมากที่สุดเท่าที่มีให้ (กฎข้อ 24-2 หรือ 25-1 หรือ 25-3) หรือ
ค. จุดสุดท้ายที่ลูกเดิมข้ามขอบของอุปสรรคน้ำ หรืออุปสรรคน้ำด้านข้าง (กฎข้อ 26-1)
ถ้ามีการดรอปลูกใหม่แล้วลูกกลิ้งเข้าไปในตำแหน่งตามที่ระบุข้างต้น จะต้องวางลูกใกล้ที่สุดเท่าที่เป็นไปได้ กับจุดที่ลูกกระทบพื้นสนามเมื่อทำการดรอปใหม่
ถ้าไม่สามารถนำลูกเดิมกลับมาดรอปใหม่ หรือไม่สามารถนำลูกเดิมกลับมาวางภายใต้กฎข้อนี้ ก็อาจจะใช้อีกลูกหนึ่งแทนได้
หมายเหตุ เมื่อมีการดรอปลูก หรือมีการดรอปลูกใหม่ และลูกหยุดนิ่งแล้ว ถ้าภายหลังจากนั้น ลูกเคลื่อนที่ จะต้องเล่นตามสภาพที่ลูกอยู่ ยกเว้นกรณีถ้ามีข้อกำหนดในกฎข้อบังคับข้ออื่นใดระบุไว้เป็นอย่างอื่น
20-3. การวางลูก และการนำลูกกลับมาวางที่เดิม
ก. โดยใคร และเมื่อใด
การวางลูกภายใต้กฎข้อบังคับ จะต้องวางโดยผู้เล่น หรือวางโดยพาร์ทเน่อร์ของตน ถ้าเป็นลูกที่จะต้องนำกลับมาวางไว้ที่เดิม ผู้เล่น หรือพาร์ทเน่อร์ของตน หรือผู้ที่หยิบลูก หรือผู้ที่เคลื่อนย้ายลูก จะต้องนำลูกมาวางตรงจุดที่หยิบลูกขึ้นมา หรือนำมาวางตรงจุดที่เคลื่อนย้ายลูกไป ในกรณีเช่นนี้ ผู้เล่นจะต้องรับผิดชอบหากมีการละเมิดกฎข้อบังคับ ถ้าลูก หรือที่มาร์คลูกเคลื่อนที่โดยบังเอิญจากการวางลูก หรือจากการนำลูกกลับมาวางไว้ที่เดิม จะต้องนำลูก หรือที่มาร์คลูกนั้นกลับมาวางไว้ที่เดิมโดยไม่มีการปรับโทษ แต่มีเงื่อนไขว่าการเคลื่อนที่ของลูก หรือการเคลื่อนที่ของที่มาร์คลูกเกิดจากการกระทำเฉพาะในการมาร์คตำแหน่งลูก หรือในการหยิบลูกโดยตรงเท่านั้น มิฉะนั้น ผู้เล่นจะต้องถูกปรับโทษหนึ่งแต้ม ภายใต้กฎข้อ 18-2ก หรือ20-1
ข. สภาพพื้นที่ต้องนำลูกมาวาง หรือนำลูกกลับมาวางไว้ที่เดิมได้เปลี่ยนไป
ถ้าสภาพพื้นที่เดิมที่ต้องนำลูกมาวาง หรือนำลูกกลับมาวางไว้ที่เดิมได้เปลี่ยนไป
(1) ยกเว้นในอุปสรรค จะต้องวางลูกบนที่ที่มีสภาพพื้นที่คล้ายกับสภาพพื้นที่เดิมมากที่สุด ในระยะที่ไม่มากไปกว่าหนึ่งช่วงไม้กอล์ฟจากสภาพพื้นที่เดิม โดยไม่ใกล้หลุมเข้าไปมากกว่าที่เดิม และไม่เข้าไปในอุปสรรค
(2) ในอุปสรรคน้ำ จะต้องวางลูกตาม ข้อ (1) ดังกล่าว เว้นแต่ว่าต้องวางลูกในอุปสรรคน้ำ
(3) ในบังเกอร์ จะต้องปรับแต่งพื้นที่ใหม่ ให้ใกล้เคียงกับสภาพพื้นที่เดิมเท่าที่เป็นไปได้ และจะต้องวางลูกบนพื้นที่นั้น
ค. ไม่สามารถหาจุดวางได้
หากไม่สามารถหาจุดที่จะต้องวางลูก หรือที่จะต้องนำลูกกลับมาวางไว้ที่เดิมนั้นได้
(1) ทั่วพื้นสนาม จะต้องดรอปลูกใกล้ที่สุดเท่าที่เป็นไปได้ในจุดเดิมที่ลูกอยู่ แต่ไม่เข้าไปในอุปสรรค หรือไม่ขึ้นไปบนกรีน
(2) ในอุปสรรค จะต้องดรอปลูกในอุปสรรคในจุดที่ใกล้ที่เดิมที่สุดเท่าที่เป็นไปได้
(3) บนกรีน จะต้องวางลูกใกล้ที่เดิมที่สุดเท่าที่เป็นไปได้ แต่ไม่เข้าไปในอุปสรรค
ง. ลูกไม่หยุดอยู่กับที่
เมื่อวางลูกแล้ว ถ้าลูกไม่หยุดอยู่กับที่จะวาง จะต้องนำกลับมาวางใหม่ได้โดยไม่มีการปรับโทษ และถ้าลูกยังคงไม่หยุดอยู่ที่จุดนั้น
(1) ยกเว้นในอุปสรรค จะต้องวางลูกตรงจุดที่ใกล้ที่สุดที่สามารถวางลูกให้หยุดนิ่ง โดยไม่ใกล้หลุมเข้าไป และไม่เข้าไปในอุปสรรค
(2) ในอุปสรรค จะต้องวางลูกในอุปสรรคตรงจุดที่ใกล้ที่สุดที่สามารถวางลูกให้หยุดนิ่งได้ โดยไม่ใกล้หลุมเข้าไป
เมื่อวางลูกหยุดนิ่งที่จุดนั้นแล้ว ถ้าลูกเคลื่อนที่ภายหลังจากนั้น จะไม่มีการปรับโทษ และต้องเล่นลูกตามสภาพที่ลูกอยู่ ยกเว้นถ้ามีข้อกำหนดในกฎข้อบังคับอื่นใดระบุไว้เป็นอย่างอื่น
การปรับโทษสำหรับการละเมิดกฎข้อ 20-1 หรือ 20-2 หรือ 20-3
การเล่นแบบแมทช์เพลย์ – ปรับเป็นแพ้ในหลุมนั้น
การเล่นแบบสโตรคเพลย์ – ปรับสองแต้ม
20-4 เมื่อลูกที่ดรอป หรือลูกที่วางเป็นลูกที่อยู่ในการเล่น
หากมีการหยิบลูกที่อยู่ในการเล่นของผู้เล่นขึ้นมา ลูกจะกลับไปอยู่ในการเล่นอีกครั้งเมื่อดรอปลูก หรือวางลูกแล้ว ลูกที่นำมาใช้แทนที่ กลายมาเป็นลูกที่อยู่ในการเล่นต่อเมื่อได้ดรอปลูก หรือวางลูกแล้ว
(ลูกที่นำมาใช้แทนที่อย่างไม่ถูกต้อง – ดูกฎข้อ 15-1)
(ลูกที่หยิบขึ้น ใช้ลูกอื่นแทนที่ หรือนำมาดรอป หรือมาวางไม่ถูกต้อง – ดูกฎข้อ 20-6)
20-5 การตีครั้งต่อไปจากที่ที่ตีครั้งที่แล้ว
เมื่อผู้เล่นเลือก หรือจำเป็นต้องทำการตีครั้งต่อไปจากที่ที่ตีไปครั้งที่แล้วภายใต้กฎข้อบังคับ ผู้เล่นจะต้องปฏิบัติดังต่อไปนี้ ถ้าเป็นการเล่นครั้งที่แล้วจากแท่นตั้งที ผู้เล่นจะต้องเล่นจากที่ใดก็ได้ภายในแท่นตั้งที และอาจจะตั้งลูกบนทีก็ได้ หรือถ้าเป็นการเล่นครั้งที่แล้วจากทั่วพื้นสนาม หรือเล่นจากอุปสรรค ผู้เล่นจะต้องดรอปลูก หรือถ้าเป็นการเล่นครั้งที่แล้วบนกรีน ผู้เล่นจะต้องวางลูก
การปรับโทษสำหรับการละเมิดกฎข้อ 20-5
การเล่นแบบแมทช์เพลย์ – ปรับเป็นแพ้ในหลุมนั้น
การเล่นแบบสโตรคเพลย์ - ปรับสองแต้ม
20-6 การหยิบลูกขึ้นที่นำไปเปลี่ยน หรือนำไปดรอป หรือนำไปวางอย่างไม่ถูกต้อง
ลูกที่นำไปเปลี่ยนอย่างไม่ถูกต้อง หรือนำไปดรอป หรือนำไปวางผิดที่ หรือไม่เป็นไปตามกฎข้อบังคับ แต่ยังไม่ได้เล่น ผู้เล่นอาจจะหยิบขึ้น แล้วผู้เล่นจะต้องปฏิบัติให้ถูกต้อง โดยถูกไม่ปรับโทษ
20-7 การเล่นจากผิดที่
สำหรับลูกที่เล่นจากนอกแท่นตั้งที หรือเล่นจากผิดแท่นตั้งที – ดูกฎข้อ 11-4 และ 11-5
ก. การเล่นแบบแมทช์เพลย์
ถ้าผู้เล่นตีลูกที่ได้ดรอป หรือเล่นลูกที่ได้วางผิดที่ ผู้เล่นจะต้องถูกปรับเป็นแพ้ในหลุมนั้น
ข. การเล่นแบบสโตรคเพลย์
ถ้าผู้เข้าแข่งขันเล่นลูกที่อยู่ในการเล่นของตน ซึ่ง (1) ได้ดรอป หรือได้วางในผิดที่ หรือ (2) ได้ถูกทำให้เคลื่อนที่ และไม่นำกลับมาวางไว้ที่เดิมตามที่กฎข้อบังคับระบุต้องให้นำกลับมาวางไว้ที่เดิม ผู้เข้าแข่งขันจะต้องถูกปรับโทษตามที่ระบุในกฎข้อบังคับที่สามารถนำมาบังคับใช้ และให้เล่นจบหลุมด้วยลูกนั้น แต่มีเงื่อนไขว่าต้องไม่มีการละเมิดกฎข้อบังคับอย่างร้ายแรง
ภายหลังจากการเล่นในผิดที่ แล้วผู้เข้าแข่งขันได้รับทราบความจริง และเชื่อว่าตนอาจจะกระทำการละเมิดกฎอย่างร้ายแรง ผู้เข้าแข่งขันอาจประกาศขอเล่นใหม่ด้วยลูกที่สองให้จบหลุมนั้นโดยดรอป หรือวางลูกให้ถูกที่ตามกฎข้อบังคับ ทั้งนี้ภายใต้เงื่อนไขว่าผู้เข้าแข่งขันยังไม่ได้เล่นจากแท่นตั้งทีของหลุมต่อไป หรือลงจากกรีนในกรณีที่เป็นหลุมสุดท้ายของรอบที่เล่น ผู้เข้าแข่งขันจะต้องรายงานความเป็นจริงต่อคณะกรรมการก่อนส่งสกอร์การ์ด หากผู้เข้าแข่งขันไม่ทำเช่นนี้ ผู้เข้าแข่งขันจะต้องถูกตัดสิทธิ์จากการแข่งขัน คณะกรรมการจะต้องสอบสวนว่ามีการละเมิดกฎข้อบังคับอย่างร้ายแรงเกิดขึ้นหรือไม่ ถ้าเป็นดังนั้น จะต้องนับแต้มของลูกที่สอง และผู้เข้าแข่งขันจะต้องบวกแต้มปรับโทษสองแต้มรวมเข้าไปกับแต้มของลูกนั้น
หากมีการละเมิดกฎอย่างร้ายแรง และผู้เข้าแข่งขันไม่ได้แก้ไขให้ถูกต้องดังที่ระบุไว้ข้างต้น ผู้เข้าแข่งขันจะต้องถูกตัดสิทธิ์จากการแข่งขัน
หมายเหตุ ถ้าผู้เข้าแข่งขันเล่นลูกที่สอง แต้มปรับโทษเฉพาะที่เกิดขึ้นจากการเล่นลูกที่ได้ใช้กฎข้อบังคับตัดสินไปแล้วว่าไม่นับ ตลอดจนแต้มที่ทำได้หลังจากนั้นด้วยลูกดังกล่าว ให้ถือว่ายกเลิกไป
กฎข้อ 21 การทำความสะอาดลูก
ลูกที่อยู่บนกรีนแล้วอาจหยิบลูกขึ้นทำความสะอาดได้ตามกฎข้อ 16-1ข ในอื่นๆผู้เล่นอาจจะทำความสะอาดลูกได้เมื่อหยิบขึ้น ยกเว้นเมื่อหยิบลูกขึ้นในกรณีต่อไปนี้
ก. เพื่อตรวจดูให้แน่ใจว่าเป็นลูกไม่เหมาะที่จะใช้เล่น (กฎข้อ 5-3)
ข. เพื่อพิสูจน์ว่าเป็นลูกของผู้เล่น (กฎข้อ 12-2) ในกรณีเช่นนี้ อาจจะทำความสะอาดลูกได้เท่าที่จำเป็น เพียงพอเพื่อการพิสูจน์เท่านั้น หรือ
ค. เป็นลูกที่กีดขวาง หรือช่วยเหลือการเล่น (กฎข้อ 22)
ถ้าผู้เล่นทำความสะอาดลูกของตนระหว่างการเล่นในหลุมใดหลุมหนึ่ง โดยที่กฎข้อนี้ไม่อนุญาตไว้ ผู้เล่นจะต้องถูกปรับโทษหนึ่งแต้ม ถ้าได้หยิบลูกขึ้น จะต้องนำลูกกลับมาวางไว้ที่เดิม
ถ้าผู้เล่นซึ่งกฎข้อบังคับให้นำลูกกลับมาวางไว้ที่เดิม แล้วไม่ปฏิบัติตาม ผู้เล่นจะต้องถูกปรับโทษสำหรับการละเมิดกฎข้อ 20-3ก แต่จะไม่ถูกปรับโทษเพิ่มภายใต้กฎข้อ 21 อีก
ข้อยกเว้น ถ้าผู้เล่นถูกปรับโทษเนื่องจากไม่ทำตามกฎข้อ 5-3 หรือข้อ 12-2 หรือข้อ 22 แล้ว จะต้องไม่ถูกปรับโทษเพิ่มภายใต้กฎข้อ 21 เพิ่มอีก |
|
กฎข้อ 22 ลูกกีดขวาง หรือลูกช่วยเหลือการเล่น
ผู้เล่นคนหนึ่งคนใดอาจจะ
ก. หยิบลูกของตนขึ้น ถ้าผู้เล่นเห็นว่าลูกนั้นอาจช่วยเหลือผู้เล่นอื่น หรือ
ข. ขอให้หยิบลูกอื่นขึ้น ถ้าผู้เล่นเห็นว่าลูกนั้นอาจกีดขวางการเล่นของตน หรืออาจช่วยเหลือการเล่นของผู้เล่นอื่น
แต่ไม่อาจจะกระทำได้ในขณะที่ลูกอีกลูกหนึ่งกำลังเคลื่อนที่ ส่วนในการเล่นแบบสโตรคเพลย์ ผู้เล่นซึ่งจำเป็นต้องหยิบลูก อาจขอเล่นก่อนแทนการหยิบลูกขึ้น ลูกที่หยิบขึ้นมาภายใต้กฎข้อนี้ จะต้องนำกลับมาวางไว้ที่เดิม
การปรับโทษสำหรับการละเมิดกฎ
การเล่นแบบแมทช์เพลย์ – ปรับเป็นแพ้ในหลุมนั้น
การเล่นแบบสโตรคเพลย์ – ปรับสองแต้ม
หมายเหตุ ยกเว้นบนกรีน ห้ามทำความสะอาดลูกเมื่อหยิบขึ้นภายใต้กฎข้อนี้ – ดูกฎข้อ 21 |
|
กฎข้อ 23 ลูสอิมเพดิเม้นท์
นิยามศัพท์
ลูสอิมเพดิเม้นท์ หมายถึง สิ่งร่วงหล่นที่เป็นวัตถุธรรมชาติ เช่น ก้อนหิน ใบไม้ กิ่งไม้ แขนงไม้ และสิ่งที่คล้ายกัน มูลสัตว์ หนอน แมลง และคราบสัตว์ หรือกองมูลสัตว์ โดยมีเงื่อนไขว่าสิ่งเหล่านี้ต้องไม่ติดตรึง หรือไม่งอกเงยอยู่ หรือไม่ติดอยู่อย่างแน่นหนา และไม่เกาะติดอยู่ที่ลูก
ทราย และเศษดิน เป็นลูสอิมเพดิเม้นท์เฉพาะบนกรีน แต่ไม่ใช่ที่อื่นๆ
หิมะ และน้ำแข็งตามธรรมชาติ เป็นได้ทั้งน้ำชั่วคราว หรือลูสอิมเพดิเม้นท์ แล้วแต่ผู้เล่นจะเลือก ยกเว้นน้ำค้างแข็ง
น้ำแข็งที่ผลิตขายทั่วไปเป็นสิ่งกีดขวาง
น้ำค้าง และน้ำค้างแข็งไม่ใช่ลูสอิมเพดิเม้นท์
23-1. การผ่อนปรน
ผู้เล่นอาจจะเคลื่อนย้ายลูสอิมเพดิเม้นท์ได้โดยไม่มีการปรับโทษ ยกเว้นเมื่อทั้งลูสอิมเพดิเม้นท์ และลูกอยู่ในอุปสรรค หรือสัมผัสกับอุปสรรคในที่เดียวกัน ถ้าลูกเคลื่อนที่ ดูกฎข้อ 18-2ค
ขณะลูกกำลังเคลื่อนที่ จะต้องไม่เคลื่อนย้ายลูสอิมเพดิเม้นท์อันอาจจะมีผลต่อการเคลื่อนที่ของลูก
การปรับโทษสำหรับการละเมิดกฎ
การเล่นแบบแมทช์เพลย์ – ปรับเป็นแพ้ในหลุมนั้น
การเล่นแบบสโตรคเพลย์ - ปรับสองแต้ม
(การค้นหาลูกในอุปสรรค – ดูกฎข้อ 12-1)
(การสัมผัสเส้นทางพัต – ดูกฎข้อ 16-1ก) |
|
กฎข้อ 24 สิ่งกีดขวาง
นิยามศัพท์
จุดผ่อนปรนที่ใกล้ที่สุด หมายถึง จุดที่ใช้อ้างอิงสำหรับการผ่อนปรนโดยไม่มีการปรับโทษ เมื่อเกิดการติดขัดจากสิ่งกีดขวางที่ไม่สามารถเคลื่อนย้ายได้ (กฎข้อ 24-2) หรือจากสภาพพื้นที่ผิดปกติ (กฎข้อ25-1) หรือจากผิดกรีน (กฎข้อ 25-3)
จุดผ่อนปรนที่ใกล้ที่สุดคือ จุดบนพื้นสนามที่ใกล้กับจุดที่ลูกหยุดอยู่มากที่สุด โดยไม่ใกล้หลุมเข้าไปมากกว่าจุดที่ลูกอยู่ และเมื่อลูกหยุดอยู่ในตำแหน่งดังกล่าว จะไม่มีการติดขัดเกิดขึ้น (ดังที่ได้กำหนดไว้)
หมายเหตุ ผู้เล่นควรหาจุดผ่อนปรนที่ใกล้กับลูกที่ตกอยู่มากที่สุด โดยใช้ไม้กอล์ฟที่ผู้เล่นเจตนาจะใช้เล่นต่อไป ทำการจำลองตำแหน่งจรดไม้ และการสวิงเพื่อการตีนั้น
สิ่งกีดขวาง หมายถึง สิ่งใดก็ตามที่ทำขึ้นมา รวมถึงพื้นผิวถนน ขอบถนน ทางเดิน และน้ำแข็งที่ผลิตเพื่อขาย ยกเว้น
ก. วัตถุที่กำหนดเขตนอกสนาม เช่น กำแพง รั้ว หลัก หรือราวรั้ว
ข. ส่วนใดๆของสิ่งของที่ทำขึ้นมา และไม่สามารถเคลื่อนย้ายได้ที่อยู่ภายนอกสนาม และ
ค. สิ่งปลูกสร้างใดๆที่คณะกรรมการประกาศให้รวมเป็นส่วนเดียวกับสนาม
สิ่งกีดขวางที่ถือว่าเป็นสิ่งกีดขวางที่สามารถเคลื่อนย้ายได้นั้น ต้องสามารถเคลื่อนย้ายได้โดยไม่ใช้แรงมาก หรือโดยไม่ทำให้การเล่นล่าช้า และไม่ก่อให้เกิดความเสียหาย มิฉะนั้น สิ่งดังกล่าวเป็นสิ่งกีดขวางที่ไม่สามารถเคลื่อนย้ายได้
หมายเหตุ คณะกรรมการอาจจัดทำกฎสนาม ประกาศให้สิ่งกีดขวางที่สามารถเคลื่อนย้ายได้ เป็นสิ่งกีดขวางที่ไม่สามารถเคลื่อนย้ายได้
24-1. สิ่งกีดขวางที่สามารถเคลื่อนย้ายได้
ผู้เล่นอาจจะขอรับการผ่อนปรนจากสิ่งกีดขวางที่สามารถเคลื่อนย้ายได้ดังต่อไปนี้
ก. ถ้าลูกไม่อยู่ใน หรือลูกไม่อยู่บนสิ่งกีดขวาง อาจจะนำสิ่งกีดขวางนั้นออกไปได้ ถ้าลูกเคลื่อนที่ จะต้องนำลูกกลับมาวางไว้ที่เดิมโดยไม่มีการปรับโทษ แต่มีเงื่อนไขว่าการเคลื่อนที่ของลูกเกิดจากการนำสิ่งกีดขวางนั้นออกไปโดยตรง นอกเหนือจากนั้นให้ใช้กฎข้อ 18-2ก
ข. ถ้าลูกอยู่ใน หรืออยู่บนสิ่งกีดขวาง อาจจะหยิบลูกขึ้นได้โดยไม่มีการปรับโทษ และนำสิ่งกีดขวางนั้นออกไป ในบริเวณทั่วพื้นสนาม หรือในอุปสรรค จะต้องดรอปลูก หรือบนกรีน จะต้องวางลูก ใกล้กับจุดที่ใกล้ที่สุดใต้พื้นที่ที่ลูกอยู่ใน หรือลูกอยู่บนสิ่งกีดขวาง โดยไม่ใกล้หลุมเข้าไปอาจจะทำความสะอาดลูกได้เมื่อหยิบขึ้นภายใต้กฎข้อ 24-1
ขณะลูกกำลังเคลื่อนที่ จะต้องไม่นำสิ่งกีดขวางอันอาจมีผลต่อการเคลื่อนที่ของลูกออกไป นอกจากคันธงที่มีผู้เฝ้า หรืออุปกรณ์ของผู้เล่น
(การทำให้เกิดผลกระทบต่อลูก -ดูกฎข้อ 1-2)
หมายเหตุ ถ้าไม่สามารถนำลูกเดิมมาดรอป หรือมาวางภายใต้กฎข้อนี้ อาจจะใช้ลูกอื่นแทนได้
24-2. สิ่งกีดขวางที่ไม่สามารถเคลื่อนย้ายได้
ก. การติดขัด
การติดขัดจากสิ่งกีดขวางที่ไม่สามารถเคลื่อนย้ายได้ เกิดขึ้นเมื่อลูกอยู่ใน หรือลูกอยู่บนสิ่งกีดขวาง หรืออยู่ใกล้กับสิ่งกีดขวางมาก และทำให้การยืน หรือพื้นที่ที่ตั้งใจสวิงของผู้เล่นติดขัดกับสิ่งกีดขวางนั้น ถ้าลูกของผู้เล่นอยู่บนกรีน การติดขัดเกิดขึ้นเมื่อสิ่งกีดขวางที่ไม่สามารถเคลื่อนย้ายได้บนกรีนอยู่ระหว่างเส้นทางพัต นอกเหนือจากนั้น สิ่งที่อยู่ระหว่างเส้นทางเล่นไม่ใช่เป็นการติดขัดภายใต้กฎข้อนี้
ข. การผ่อนปรน
ยกเว้นเมื่อลูกอยู่ในอุปสรรคน้ำ หรืออุปสรรคน้ำด้านข้าง ผู้เล่นอาจขอรับการผ่อนปรน จากการติดขัดโดยสิ่งกีดขวางที่ไม่สามารถเคลื่อนย้ายได้ โดยไม่มีการปรับโทษ ดังต่อไปนี้
(1) ทั่วพื้นสนาม ถ้าลูกอยู่ในบริเวณทั่วพื้นสนาม จะต้องหาจุดผ่อนปรนที่ใกล้ลูกที่สุด ที่ไม่อยู่ในอุปสรรค หรือไม่อยู่บนกรีน
ผู้เล่นจะต้องหยิบลูก และดรอปลูกภายในหนึ่งช่วงไม้กอล์ฟจากจุดนั้น และไม่ใกล้หลุมเข้าไปมากกว่าจุดผ่อนปรนที่ใกล้ลูกที่สุดในสนามเพื่อหลีกเลี่ยงการติดขัด (ตามที่นิยามไว้) จากสิ่งกีดขวางที่ไม่สามารถเคลื่อนย้ายได้ และลูกที่ดรอปไม่เข้าไปอยู่ในอุปสรรค หรือไม่ขึ้นไปบนกรีน
(2) ในบังเกอร์ ถ้าลูกอยู่ในบังเกอร์ ผู้เล่นจะต้องหยิบและดรอปลูกตามข้อ (1) ดังกล่าว เว้นแต่ว่าจุดผ่อนปรนที่ใกล้ที่สุด ต้องอยู่ในบังเกอร์ และต้องดรอปลูกในบังเกอร์
(3) บนกรีน ถ้าลูกอยู่บนกรีน ผู้เล่นจะต้องหยิบ และวางลูกตรงตำแหน่งที่ใกล้จุดผ่อนปรนที่ใกล้ลูกที่สุด และไม่อยู่ในอุปสรรค จุดผ่อนปรนที่ใกล้ที่สุดอาจจะอยู่นอกกรีนก็ได้ อาจจะทำความสะอาดลูกได้เมื่อหยิบขึ้นภายใต้กฎข้อ 24-2ข
(ลูกกลิ้งเข้าไปในตำแหน่งที่มีการติดขัดจากที่ที่ได้รับการผ่อนปรน – ดูกฎข้อ 20-2ค(5))
ข้อยกเว้น ผู้เล่นไม่อาจจะขอรับการผ่อนปรนภายใต้กฎข้อ 24-2ข ถ้า (ก) ไม่สมกับเหตุผลอย่างชัดเจน เมื่อไม่สามารถเล่นได้เพราะการติดขัดจากสิ่งอื่นนอกเหนือจากสิ่งกีดขวางที่ไม่สามารถเคลื่อนย้ายได้(ข) การติดขัดโดยสิ่งกีดขวางอาจจะเกิดจาก การเข้าไปยืนในท่ายืนที่ผิดปกติ เกิดจากการสวิงที่ผิดปกติ หรือเกิดจากการเล่นในเส้นทางที่ผิดปกติอย่างไม่จำเป็น
หมายเหตุ 1 ถ้าลูกอยู่ในอุปสรรคน้ำ (รวมถึงอุปสรรคน้ำด้านข้าง) ผู้เล่นไม่มีสิทธิ์ขอรับการผ่อนปรนจากการติดขัดโดยสิ่งกีดขวางที่ไม่สามารถเคลื่อนย้ายได้โดยไม่มีการโทษปรับ ผู้เล่นจะต้องเล่นตามสภาพที่ลูกอยู่ หรือปฏิบัติตามกฎข้อ 26-1
หมายเหตุ 2 ถ้าไม่สามารถนำลูกที่จะดรอป หรือนำลูกที่จะวางภายใต้กฎข้อนี้มาได้ทันที ผู้เล่นอาจจะใช้อีกลูกหนึ่งแทนได้
หมายเหตุ 3 คณะกรรมการอาจจัดทำกฎสนาม โดยระบุว่าผู้เล่นต้องหาจุดผ่อนปรนที่ใกล้ที่สุดโดยไม่ข้าม ไม่ผ่าน หรือไม่ลอดใต้สิ่งกีดขวางนั้นๆ
ค. ลูกหาย
หากมีข้อสงสัยว่า หลังจากผู้เล่นได้ตีลูกเข้าไปสู่สิ่งกีดขวางที่ไม่สามารถเคลื่อนย้ายได้ ลูกเข้าไปหายในสิ่งกีดขวางนั้นหรือไม่ ดังนั้น เพื่อแสดงว่าลูกเข้าไป และลูกหายในสิ่งกีดขวางนั้น จะต้องมีพยานหลักฐานเพียงพอที่จะเชื่อถือได้ว่าลูกเข้าไปในสิ่งกีดขวางนั้น หากขาดพยานหลักฐาน ต้องถือว่าลูกนั้นเป็นลูกหาย และต้องใช้กฎข้อ 27
ถ้าลูกเข้าไปหายในสิ่งกีดขวางที่ไม่สามารถเคลื่อนย้ายได้ จะต้องหาจุดสุดท้ายที่ลูกเข้าไปในสิ่งกีดขวาง และเพื่อวัตถุประสงค์ในการใช้กฎข้อนี้ จะต้องถือว่าลูกตกอยู่ที่จุดดังกล่าวนี้
(1) ทั่วพื้นสนาม ถ้าลูกเข้าไปที่หายในสิ่งกีดขวางที่ไม่สามารถเคลื่อนย้ายได้เป็นจุดสุดท้ายในบริเวณทั่วพื้นสนามผู้เล่นอาจใช้อีก ลูกหนึ่งมาแทนได้โดยไม่มีการปรับโทษ และได้รับการผ่อนปรนตามที่ระบุไว้ในกฎข้อ 24-2ข(1)
(2) ในบังเกอร์ ถ้าลูกเข้าไปหายในสิ่งกีดขวางที่ไม่สามารถเคลื่อนย้ายได้เป็นจุดสุดท้ายในบังกอร์ ผู้เล่นอาจใช้อีกลูกหนึ่งมาแทน ได้โดยไม่มีการปรับโทษ และได้รับการผ่อนปรนตามที่ระบุไว้ในกฎข้อ 24-2ข(2)
(3) ในอุปสรรคน้ำ (รวมถึงอุปสรรคน้ำด้านข้าง) ถ้าลูกเข้าไปหายในสิ่งกีดขวางที่ไม่สามารถเคลื่อนย้ายได้ที่อยู่ในอุปสรรคน้ำ เป็นจุดสุดท้าย ผู้เล่นไม่มีสิทธิ์ได้รับการผ่อนปรนโดยไม่ถูกปรับโทษ ผู้เล่นจะต้องปฏิบัติตามกฎข้อ 26-1
(4) บนกรีน ถ้าลูกเข้าไปหายในสิ่งกีดขวางที่ไม่สามารถเคลื่อนย้ายได้ที่อยู่บนกรีนเป็นจุดสุดท้าย ผู้เล่นอาจใช้อีกลูกหนึ่งมาแทน โดยไม่ถูกปรับโทษ และได้รับการผ่อนปรนตามที่ระบุไว้ในกฎข้อ 24-2ข(3)
การปรับโทษสำหรับการละเมิดกฎ
การเล่นแบบแมทช์เพลย์ – ปรับเป็นแพ้ในหลุมนั้น
การเล่นแบบสโตรคเพลย์ - ปรับสองแต้ม
กฎข้อ 25 สภาพพื้นผิดปกติ ลูกจมในรอยตก และผิดกรีน
นิยามศัพท์
สภาพพื้นที่ผิดปกติ หมายถึง น้ำชั่วคราว พื้นที่ซ่อม หรือหลุม คราบสัตว์ ทางวิ่งของสัตว์ในสนามที่เกิดจากสัตว์ที่อาศัยอยู่ในโพรง สัตว์เลื้อยคลาน หรือนก
สัตว์ที่อาศัยอยู่ในโพรง หมายถึง สัตว์ที่ขุดรู หรือสัตว์ที่ทำรังเป็นที่อาศัย เช่น กระต่าย ตัวตุ่น หมูตอน หรือกิ้งก่า
หมายเหตุ หลุมที่ขุดโดยสัตว์ที่ไม่ได้อาศัยอยู่ในโพรง เช่น สุนัข ไม่ถือว่าเป็นสภาพพื้นที่ผิดปกติ เว้นแต่จะมีการทำเครื่องหมายระบุไว้ หรือประกาศไว้ให้เป็นสภาพพื้นที่ผิดปกติ
น้ำชั่วคราว หมายถึง พื้นที่ในสนามที่มีน้ำขังสะสมชั่วคราวที่สามารถเห็นได้ทั้งก่อน หรือหลังจากผู้เล่นเข้าไปทำการยืน และไม่อยู่ในอุปสรรคน้ำ สำหรับหิมะและนำแข็งธรรมชาติเป็นได้ทั้งน้ำชั่วคราว หรือเป็นลูซอิมเพดดิเมนท์ โดยให้อยู่ในดุลยพินิจของผู้เล่น ส่วนน้ำแข็งที่ผลิตเพื่อขายทั่วไปถือเป็นสิ่งกีดขวาง ลูกอยู่ในน้ำชั่วคราวเมื่อลูกอยู่ในน้ำชั่วคราว หรือส่วนหนึ่งส่วนใดของลูกสัมผัสกับน้ำชั่วคราว ส่วนน้ำค้างและน้ำค้างแข็งไม่ถือเป็นน้ำชั่วคราว
พื้นที่ซ่อม หมายถึง ส่วนใดๆของสนามที่ทำเครื่องหมายไว้โดยคำสั่งคณะกรรมการ หรือประกาศโดยผู้แทนซึ่งได้รับอนุญาต ให้พื้นที่ซ่อมรวมถึงกองวัสดุที่จะทำการขนย้ายออกไป และรวมถึงหลุมที่ทำขึ้นโดยผู้ดูแลสนาม แม้ว่าไม่ได้ทำเครื่องหมายไว้
พื้นที่ทั้งหมด และสิ่งอื่นๆที่งอกเงยอยู่ในพื้นที่ซ่อม เช่น หญ้า พุ่มไม้ หรือต้นไม้ ถือเป็นส่วนหนึ่งของพื้นที่ซ่อม ขอบเขตของพื้นที่ซ่อมวัดดิ่งลงไปในแนวตั้งฉากกับพื้น แต่ไม่ต่อเนื่องขึ้นด้านบน ส่วนเสาหลัก และเส้นที่กำหนดพื้นที่ซ่อมให้อยู่ในพื้นที่ซ่อม เสาหลักและเส้นที่ระบุพื้นที่ซ่อมดังกล่าวเป็นสิ่งกีดขวาง ลูกอยู่ในพื้นที่ซ่อมเมื่อลูกอยู่ในเขต หรือส่วนหนึ่งส่วนใดของลูกสัมผัสกับพื้นที่ซ่อม
หมายเหตุ 1 เศษหญ้าที่ตัดทิ้งไว้ และวัสดุอื่นๆที่ถูกกองทิ้งไว้ในสนาม และไม่มีเจตนาจะเคลื่อนย้ายออกไปจากสนาม ไม่ถือว่าเป็นพื้นที่ซ่อม เว้นแต่จะทำเครื่องหมายไว้
หมายเหตุ 2 คณะกรรมการอาจออกกฎสนามเพื่อห้ามเล่นในพื้นที่ซ่อม หรือในบริเวณที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมที่ได้กำหนดไว้ให้เป็นพื้นที่ซ่อม
จุดผ่อนปรนที่ใกล้ที่สุด หมายถึง จุดที่ใช้อ้างอิงสำหรับการผ่อนปรนโดยไม่มีการปรับโทษ เมื่อเกิดการติดขัดจากสิ่งกีดขวางที่ไม่สามารถเคลื่อนย้ายได้ (กฎข้อ 24-2) หรือจากสภาพพื้นที่ผิดปกติ (กฎข้อ25-1) หรือจากการเล่นผิดกรีน (กฎข้อ 25-3)
จุดผ่อนปรนที่ใกล้ที่สุดคือ จุดบนพื้นสนามที่ใกล้กับจุดที่ลูกหยุดอยู่มากที่สุด โดยไม่ใกล้หลุมเข้าไปมากกว่าจุดที่ลูกอยู่ และเมื่อลูกหยุดอยู่ในตำแหน่งดังกล่าว จะไม่มีการติดขัดเกิดขึ้น (ดังที่ได้กำหนดไว้)
หมายเหตุ ผู้เล่นควรหาจุดผ่อนปรนที่ใกล้กับลูกที่ตกอยู่มากที่สุด โดยใช้ไม้กอล์ฟที่ผู้เล่นเจตนาจะใช้เล่นต่อไป ทำการจำลองตำแหน่งจรดไม้ และการสวิงเพื่อการตีนั้น
ผิดกรีน หมายถึง กรีนใดก็ตามนอกเหนือจากกรีนของหลุมที่กำลังเล่นอยู่ เว้นแต่คณะกรรมการระบุให้เป็นอย่างอื่น นิยามนี้ให้มีความหมายรวมถึงกรีนซ้อมพัต หรือกรีนซ้อมพิทช์ในสนาม
25-1. สภาพพื้นที่ผิดปกติ
ก. การติดขัด
การติดขัดจากสภาพพื้นที่ผิดปกติ เกิดขึ้นเมื่อลูกอยู่ใน หรือลูกสัมผัสกับสภาพดังกล่าว หรือเมื่อสภาพเช่นนั้นทำให้การยืนหรือพื้น
ที่ตั้งใจสวิงของผู้เล่นติดขัด ถ้าลูกของผู้เล่นอยู่บนกรีน การติดขัดเกิดขึ้นเมื่อสภาพเช่นนั้นอยู่ระหว่างเส้นทางพัต นอกเหนือจากนั้น สภาพพื้นที่ผิดปกติที่ขวางอยู่ระหว่างเส้นทางเล่น ไม่ใช่เป็นการติดขัดภายใต้กฎข้อนี้
หมายเหตุ คณะกรรมการอาจจัดทำกฎสนาม เพื่อห้ามการผ่อนปรนในกรณีที่ผู้เล่นต้องยืนในสภาพพื้นที่ผิดปกติเพื่อเล่น
ข. การผ่อนปรน
ยกเว้นเมื่อลูกอยู่ในอุปสรรคน้ำ หรืออุปสรรคน้ำด้านข้าง ผู้เล่นอาจขอรับการผ่อนปรนในการติดขัดจากสภาพพื้นที่ผิดปกติดังต่อไปนี้
(1) ทั่วพื้นสนาม ถ้าลูกอยู่ในบริเวณทั่วพื้นสนาม จะต้องหาจุดผ่อนปรนที่ใกล้ลูกที่สุดที่ไม่อยู่ในอุปสรรค หรือไม่อยู่บนกรีน
ผู้เล่นจะต้องหยิบลูก และดรอปลูกภายในหนึ่งช่วงไม้กอล์ฟจากจุดนั้น และไม่ใกล้หลุมเข้าไปมากกว่าจุดผ่อนปรนที่ใกล้ลูกที่สุดในสนาม เพื่อหลีกเลี่ยงการติดขัด (ตามที่นิยามไว้) จากสภาพนั้น และไม่อยู่ในอุปสรรค หรือไม่อยู่บนกรีน โดยไม่มีการปรับโทษ
(2) ในบังเกอร์ ถ้าลูกอยู่ในบังเกอร์ ผู้เล่นจะต้องหยิบ และดรอปลูก
(ก) โดยไม่มีการปรับโทษตามข้อ (1) ดังกล่าว เว้นแต่ว่าจุดผ่อนปรนที่ใกล้ลูกที่สุดต้องอยู่ในบังเกอร์ และผู้เล่นต้องดรอปลูกในบังเกอร์ หรือถ้าการผ่อนปรนทั้งหมดเป็นไปไม่ได้ ต้องดรอปลูกในบังเกอร์ใกล้เท่าที่เป็นไปได้ และไม่ใกล้หลุมเข้าไปเพื่อให้ได้รับการผ่อนปรนจากสภาพนั้นๆมากที่สุดเท่าที่ให้ได้ หรือ
(ข) ดรอปลูกนอกบังเกอร์ โดยใช้แนวจากลูกไปสู่หลุม ถอยไปทางด้านหลังบังเกอร์ไกลเท่าใดก็ได้ และอาจจะดรอปลูกในแนวนั้นโดยถูกปรับโทษหนึ่งแต้ม
(3) บนกรีน ถ้าลูกอยู่บนกรีน ผู้เล่นจะต้องหยิบลูก และวางลูกตรงตำแหน่งที่ใกล้จุดผ่อนปรนที่ใกล้ลูกที่สุดที่ไม่อยู่ในอุปสรรค หรือถ้าการผ่อนปรนทั้งหมดเป็นไปไม่ได้ ให้หาจุดใกล้ลูกที่สุดที่จะได้รับการผ่อนปรนมากที่สุดเท่าที่มี จุดผ่อนปรนที่ใกล้ลูกที่สุด หรือการผ่อนปรนมากที่สุดอาจจะอยู่นอกกรีนก็ได้อาจจะทำความสะอาดลูกได้เมื่อหยิบขึ้นภายใต้กฎข้อ 24-2ข
(ลูกกลิ้งเข้าไปในตำแหน่งที่มีการติดขัดจากสภาพที่ได้รับการผ่อนปรน – ดูกฎข้อ 20-2ค(5))
ข้อยกเว้น ผู้เล่นไม่อาจจะได้รับการผ่อนปรนภายใต้กฎข้อ 25-1ข ถ้า (ก) ไม่สมกับเหตุผลอย่างชัดเจน เมื่อไม่สามารถเล่นได้เพราะการติดขัดจากสิ่งอื่นนอกเหนือจากสภาพพื้นผิดปกติ หรือ (ข) การติดขัดจากสภาพเช่นนั้นอาจจะเกิดจากการเข้าไปยืนในท่ายืนที่ผิดปกติ เกิดจากการสวิงที่ผิดปกติ หรือเกิดจากเส้นทางเล่นที่ผิดปกติอย่างไม่จำเป็น
หมายเหตุ 1 ถ้าลูกอยู่ในอุปสรรคน้ำ (รวมถึงอุปสรรคน้ำด้านข้าง) ผู้เล่นไม่มีสิทธิ์ได้รับการผ่อนปรนจากสภาพพื้นที่ผิดปกติโดยไม่มีการปรับโทษ ผู้เล่นจะต้องเล่นตามสภาพที่ลูกอยู่ (นอกจากกฎสนามห้ามเล่น) หรือปฏิบัติตามกฎข้อ 26-1
หมายเหตุ 2 ถ้าไม่ไม่สามารถนำลูกที่จะดรอป หรือนำลูกที่จะวางภายใต้กฎข้อนี้มาได้ ผู้เล่นอาจจะใช้อีกลูกหนึ่งแทนได้
ค. ลูกหาย
หากมีข้อสงสัยว่าหลังจากตีลูกเข้าไปสู่สภาพพื้นที่ผิดปกติ ลูกเข้าไปหายในสภาพเช่นนั้นหรือไม่ ดังนั้น เพื่อแสดงว่าลูกเข้าไป และหายในสภาพพื้นที่ผิดปกติ จะต้องมีพยานหลักฐานเพียงพอที่เชื่อถือได้ว่าลูกเข้าไปในนั้น หากขาดพยานหลักฐาน จึงต้องถือว่าลูกนั้นเป็นลูกหาย และต้องใช้กฎข้อ 27
ถ้าลูกเข้าไปหายในสภาพพื้นที่ผิดปกติ จะต้องหาจุดสุดท้ายที่ลูกเข้าไปในสภาพนั้น และเพื่อวัตถุประสงค์ในการใช้กฎข้อนี้ จะต้องถือว่าลูกตกอยู่ตรงจุดสุดท้ายที่ได้เข้าไป
(1) ทั่วพื้นสนาม ถ้าลูกเข้าไปหายในสภาพพื้นที่ผิดปกติในบริเวณทั่วพื้นสนามเป็นจุดสุดท้าย ผู้เล่นอาจใช้อีกลูกหนึ่งมาแทนได้ โดยไม่มีการปรับโทษ และได้รับการผ่อนปรนตามที่ระบุไว้ในกฎข้อ 25-1ข(1)
(2) ในบังเกอร์ ถ้าลูกเข้าไปหายในสภาพพื้นที่ผิดปกติในบังเกอร์เป็นจุดสุดท้าย ผู้เล่นอาจใช้อีกลูกหนึ่งมาแทนโดยไม่มีการปรับ โทษ และได้รับการผ่อนปรนตามที่ระบุไว้ในกฎข้อ 25-1ข(2)
(3) ในอุปสรรคน้ำ (รวมถึงอุปสรรคน้ำด้านข้าง) ถ้าลูกเข้าไปหายในสภาพพื้นที่ผิดปกติที่อยู่ในอุปสรรคน้ำเป็นจุดสุดท้าย ผู้ เล่นไม่มีสิทธิ์ได้รับการผ่อนโดยไม่ถูกปรับโทษ ผู้เล่นจะต้องปฏิบัติตามกฎข้อ 26-1
(4) บนกรีน ถ้าลูกเข้าไปหายในสภาพพื้นที่ผิดปกติบนกรีนเป็นจุดสุดท้าย ผู้เล่นอาจใช้อีกลูกหนึ่งมาแทนโดยไม่มีการปรับโทษ และได้รับการผ่อนปรนตามที่ระบุไว้ในกฎข้อ 25-1ข(3)
25-2. ลูกจม
ลูกจมในรอยตกของมันเองบนพื้นในบริเวณหญ้าตัดเรียบทั่วพื้นสนาม ผู้เล่นอาจจะหยิบลูก ทำความสะอาด และดรอปลูกใกล้เท่าที่เป็นไปได้กับจุดที่ลูกตก และไม่ใกล้หลุมกว่าเดิมโดยไม่มีการปรับโทษ ลูกที่ดรอปต้องกระทบส่วนของพื้นสนามในบริเวณทั่วพื้นสนาม สำหรับคำว่า “ในบริเวณหญ้าตัดเรียบ” หมายถึงพื้นที่ใดๆในสนาม รวมถึงแนวรัฟที่ได้ตัดมีความสูงของหญ้าเท่ากับ หรือสั้นกว่าหญ้าบนแฟร์เวย์
25-3. ผิดกรีน
ก. การติดขัด
การติดขัดในการเล่นบนผิดกรีน เกิดขึ้นเมื่อลูกอยู่บนผิดกรีน
การติดขัดโดยการยืนของผู้เล่น หรือพื้นที่ตั้งใจสวิง ไม่ใช่เป็นการติดขัดภายใต้กฎข้อนี้
ข. การผ่อนปรน
ถ้าผู้เล่นเกิดการติดขัดจากการขึ้นผิดกรีน ผู้เล่นต้องทำการผ่อนปรนโดยไม่มีการปรับโทษ ดังต่อไปนี้
จะต้องหาจุดผ่อนปรนที่ใกล้ลูกมากที่สุด ที่ไม่อยู่ในอุปสรรค หรือไม่อยู่บนกรีน ผู้เล่นจะต้องหยิบลูก และดรอปภายในหนึ่งช่วงไม้กอล์ฟจากจุดนั้น และไม่ใกล้หลุมเข้าไปมากกว่าจุดผ่อนปรนที่ใกล้ลูกที่สุดในสนามเพื่อหลีกเลี่ยงการติดขัด (ตามที่กำหนดไว้) จากสภาพนั้น และไม่อยู่ในอุปสรรค หรือไม่อยู่บนกรีน โดยไม่มีการปรับโทษ
ผู้เล่นอาจจะทำความสะอาดลูกเมื่อหยิบขึ้นมาได้
การปรับโทษสำหรับการละเมิดกฎ
การเล่นแบบแมทช์เพลย์ – ปรับเป็นแพ้ในหลุมนั้น
การเล่นแบบสโตรคเพลย์ - ปรับสองแต้ม
กฎ กติกา กอล์ฟ บทที่ 1-6 | กฎ กติกา กอล์ฟ บทที่ 7-12 | กฎ กติกา กอล์ฟ บทที่ 13-19 | กฎ กติกา กอล์ฟ บทที่ 20-25